ปัญหาอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาปี ค.ศ. 2000

ปัญหาอุปสรรคในการแก้ไขปัญหา ปี ค.ศ. 2000 สามารถสรุปได้เป็น3ประเด็นหลักๆดังนี้ คือ

1. การจัดเตรียมอัตรากำลังของบุคลากรที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาปี ค.ศ. 2000

ในขณะนี้ประเทศไทยได้มีบริษัทต่างๆที่ดำเนินธุรกิจในด้านการแก้ไขปัญหาปี ค.ศ. 2000 แล้วประมาณ 40 บริษัท และยังมีชมรมต่างๆทำการรวบรวมพนักงานด้าน I/T ที่ว่างงานอันเนื่องจากวิกฤตการณ์ IMF เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้อีกประมาณ 200 คน ซึ่งเราสามารถจะใช้บริการจากแหล่งบุคลากรเหล่านี้ให้เข้ามาช่วยสนับสนุนด้านอัตรากำลังบุคลากรในการแก้ไขปัญหาปี ค.ศ. 2000 ได้อย่างดี เนื่องจากงานนี้เป็นงานเฉพาะกิจจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจ้างคนเพิ่มอย่างถาวร ปัญหาที่พบคือ กำลังของบุคลลากรเหล่านี้ จำเป็นจะต้องมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่จะใช้ประกอบการทำงานให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย ซึ่งเครื่องมือที่กล่าวถึงนี้ คือ เอกสารประกอบโปรแกรม ต้นฉบับของโปรแกรม ( SOURCE CODE ) รวมทั้งต้องทราบถึงรุ่น ( VERSION AND RELEASE ) ของตัวโปรแกรมที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันว่าเป็นรุ่นใด ( ในกรณีที่มีต้นฉบับของโปรแกรมหลายๆ ชุด ) รวมทั้งต้องทราบถึงวิธีการและขั้นตอนต่างๆในการทำงานของโปรแกรม ( LOGIC ) ว่ามีขั้นตอนการทำงานก่อนหลังอย่างไร ซึ่งส่วนมากแล้วมักจะพบว่าไม่มีเอกสารประกอบที่บอกถึงวิธีการและขั้นตอนของการทำงานของโปรแกรม หรือถ้ามีก็ล้าสมัยไปแล้ว และบุคลากรที่เขียนโปรแกรมเหล่านั้นขึ้นมา ซึ่งทราบขั้นตอนการทำงานของโปรแกรมเป็นอย่างดี ( บางโปรแกรมอาจมีอายุการใช้งานมาแล้ว10-20 ปี ) ปัจจุบันบุคลากรเหล่านี้ก็ไม่ได้อยู่ในหน่วยงานนั้นแล้ว หรืออยู่ก็ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเป็นผู้บริหารแล้ว ดังนั้นกำลังบุคลากรที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาปี ค.ศ. 2000 เหล่านี้ คงต้องอาศัยการเดา และการลองผิดลองถูกเป็นหลักในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ทำให้โอกาสที่จะทำการแก้ไขโปรแกรมได้อย่างถูกต้องครบถ้วน 100 % มีความเป็นไปได้น้อยมาก ในขณะเดียวกันโอกาสที่จะทำให้โปรแกรมที่ใช้งานได้ดีอยู่แล้วในปัจจุบันมีปัญหารุนแรงถึงขั้นต้องหยุดทำงาน หรือให้ผลลัพธ์ของการทำงานที่ผิดพลาดออกมาอันเป็นผลกระทบจากการแก้ไขโปรแกรมก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ระบบงานทั้งระบบต้องหยุดการทำงานก็เป็นได้ อนึ่งในขั้นตอนของการทดสอบระบบงานที่ได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคิดเป็น 40% ของปริมาณงานทั้งหมดสำหรับการแก้ไขปัญหาปี ค.ศ. 2000 ในการนี้จำเป็นจะต้องมีการตั้งนาฬิกาของคอมพิวเตอร์ให้เป็นปี ค.ศ. 2000 เพื่อทำการทดสอบ ซึ่งจะต้องมีการเตรียมคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่งต่างหากเพื่อการนี้ ซึ่งจะใช้คอมพิวเตอร์ร่วมกับคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานประจำวันอยู่ก็มิได้ และเชื่อว่าส่วนใหญ่ยังมิได้เตรียมทรัพยากร (คอมพิวเตอร์)ในส่วนนี้ไว้เช่นกัน

2.การจัดเตรียมงบประมาณเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาปี ค.ศ. 2000

จำนวนเงินงบประมาณทั้งในส่วนของภาครัฐบาลและภาคเอกชนในขณะนี้ ถือได้ว่าอยู่ในสภาพที่ตึงที่สุด และถึงจุดที่เสี่ยงต่อการถูกยึดกิจการหรือถูกสั่งปิดกิจการก็มีหลายแห่ง การที่จะต้องไปกู้ยืมเงินเขามาซ่อมบ้านโดยมีเงื่อนไขจะต้องขายบ้านให้เขาก่อนเขาจึงจะให้กู้นั้นเป็นเรื่องที่ต้องนำมาคิดให้รอบคอบในสถานะการณ์ขณะนี้ว่าสมควรจะทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อการแก้ไขปัญหาปี ค.ศ. 2000 ในขณะนี้หรือไม่ และการแก้ไขปัญหาปี ค.ศ. 2000 สามารถจะยืดไปแก้ไขหลังจากปี ค.ศ. 2000 แล้วได้หรือไม่ ซึ่งคำตอบจะมีอยู่แล้วในบทความฉบับนี้

3.ระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาปี ค.ศ. 2000

ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนของไทยได้เริ่มตื่นตัวกับปัญหาปี ค.ศ. 2000 ตั้งแต่ปี ค.ศ.1998 โดยเฉพาะในภาครัฐได้เริ่มที่จะตั้งงบประมาณรองรับการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งกว่างบประมาณจะได้รับการอนุมัติ และเริ่มทำการแก้ไขได้อย่างจริงจังโดยผ่านขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างแล้วก็คงจะเป็นช่วงราวกลางปี ค.ศ. 1999

Peter de Jager จากบทความในวารสาร MISCELLENIUM ได้คำนวณระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาปี ค.ศ. 2000 ไว้ว่า ถ้าเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 จะมีความสำเร็จและสมบูรณ์ 99 % ถ้าเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 จะมีความสำเร็จและสมบูรณ์ 80 % และถ้าเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 จะมีความสำเร็จและสมบูรณ์ 30 % ถ้าหากการคำนวณนี้เป็นจริง เมื่อรวมกับประเด็นงบประมาณ ซึ่งกว่าจะได้เริ่มใช้งบประมาณดำเนินการแก้ไขปัญหาปี ค.ศ. 2000 ได้ คงก็จะเป็นช่วงประมาณกลางปี ค.ศ. 1999 ดังนั้น สามารถคำนวณต่อไปได้เลยว่า การแก้ไขปัญหาปี ค.ศ. 2000 ของทางภาครัฐจะมีความสำเร็จและสมบูรณ์เพียง 15 % เท่านั้น จะเห็นได้ว่าปัญหาอุปสรรคแต่ละข้อใหญ่หลวงนัก เมื่อแก้ปัญหาข้อหนึ่งได้ก็จะไปพบปัญหาอีกข้อหนึ่ง และวิธีการที่ใช้ในการแก้ปัญหาในแต่ละข้อจะสร้างปัญหาต่อเนื่องขึ้นมาอีกมากมาย เช่นปัญหาเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ปัญหาสภาพคล่อง เป็นต้น นอกจากประเด็นทั้ง 3 ประเด็นดังได้กล่าวแล้วแล้ว ยังมีสิ่งที่ต้องคำนึงอยู่อีกสิ่งหนึ่งก็คือการแก้ไขปัญหาปี ค.ศ. 2000 ที่ขาดความสมบูรณ์ 100 % นั้นจะไม่แตกต่างจากการที่ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาปี ค.ศ. 2000 แต่อย่างใดเลย เพราะคอมพิวเตอร์จะให้ผลลัพธ์ที่ออกมาเหมือนกัน คือขาดความถูกต้อง และข้อมูลเชื่อถือไม่ได้

back to main